.jpg)
พลู่มะลี (Ploo ma lee)
ชื่อวิทยาศาสตร์ (Scientific name) : Chionanthus ramiflorus Roxb.
ชื่อวงศ์ (Family name) : Oleaceae
ชื่ออื่นๆ : เกลื่อน (สุราษฎร์ธานี), ตาไชใบใหญ่ (ตรัง), โว่โพ้, อวบดำ
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
ไม้พุ่ม ผลัดใบ ขนาดเล็ก ลำต้นตั้งตรง สูง 5-10 เมตร กิ่งก้านเรียวเล็ก และลู่ลงเล็กน้อย เปลือกต้นเรียบ สีขาวอมน้ำตาล เกลี้ยง หรือแตกระแหงเล็กน้อย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ใบรูปขอบขนานแกมรี ปลายใบแหลม โคนใบสอบ กว้าง 3-5 เซนติเมตร ยาว 8-18 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบ ขอบใบเรียบ เนื้อใบหนาคล้ายแผ่นหนัง หลังใบสีเขียวเข้ม ผิวใบเรียบเกลี้ยง ดอกช่อแบบช่อแยกแขนง ออกที่ซอกใบหรือกิ่งก้าน ช่อดอก ยาว 3-15 ซม. ดอกสีขาวหรือเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอมเอียน ขนาดเล็ก ดอกย่อย 40-100 ดอก กลีบดอก มีอย่างละ 4 กลีบ รูปขอบขนาน ยาวเป็น 2 เท่าของหลอดกลีบ ก้านดอกย่อยยาว 1-2 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงสีเขียว มี 4 กลีบ ขนาด 1-1.5 มิลลิเมตร พูกลีบลึก โคนติดกัน ปลายเป็นแฉกตื้นๆ ผลสด รูปมนรี หรือรูปไข่กลับ ขนาดประมาณ 1.5-3 × 0.5-2.2 เซนติเมตร ผิวผลเรียบ มีชั้นกลีบเลี้ยงรองรับ ผลอ่อนสีเขียว เนื้อผลบาง พอสุกเป็นสีม่วงดำ ชั้นหุ้มเมล็ดแข็ง ภายในมี 1 เมล็ด ออกดอกและติดผลช่วงเดือนธันวาคมถึงพฤษภาคม พบตามป่าดิบและป่าผลัดใบ ที่ระดับความสูง 450-800 เมตร
สรรพคุณ :
ราก ต้มน้ำอมช่วยให้ฟันทน และเคี้ยวอมเพื่ออดบุหรี่
ลำต้น ใช้ในตำรับยาตะแบกป่า โดยนำมาผสมกับเนื้อไม้ตะแบกป่า (มะเกลือเลือด) ต้มน้ำดื่มรักษาโรคมุตกิด โรคระดูขาว รักษาภาวะมีบุตรยากในสตรีเนื่องจากรอบเดือนผิดปกติ (ตำรับยาสมุนไพร ร.พ.กาบเชิง จ.สุรินทร์)
Medicinal Used :
Root : decoction ; keep in the mouth make strengthen gum and teeth
เอกสารอ้างอิง :
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. (2553). พลู่มะลี, 10 ตุลาคม 2561.
http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=245
|