
ชื่อวิทยาศาสตร์ (Scientific name) : Cinnamomum camphora (L.) J. Presl.
ชื่อวงศ์ (Family name) : Lauraceae
ชื่ออื่นๆ : อบเชยญวน พรมเส็ง
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
ไม้ยืนต้นขนาดกลาง ทุกส่วนมีกลิ่นหอม โดยเฉพาะที่ราก และโคนต้น ทรงพุ่มกว้าง ทึบ เปลือกต้นสีน้ำตาล ผิวหยาบ เปลือกกิ่งสีเขียว หรือน้ำตาลอ่อน ลำต้นและกิ่งเรียบ ไม่มีขน เนื้อไม้สีน้ำตาลปนแดง ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปรี หรือรูปรีแกมรูปไข่ กว้าง 2.5-5.5 เซนติเมตร ยาว 5.5-15 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลม โคนใบป้านหรือกลม ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบค่อนข้างเหนียว ด้านบนสีเขียวเข้ม เป็นมัน ด้านล่างสีเขียวอมเทาหรือนวล ไม่มีขน เมื่อขยี้จะมีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นการบูร ดอกช่อแบบแยกแขนงออกตามเป็นกระจุกบริเวณง่ามใบ ดอกเล็กสีขาวอมเหลืองหรืออมเขียว ก้านดอกสั้นมาก ก้านเกสรค่อนข้างใหญ่ ใบประดับเรียวยาว ร่วงง่าย มีขนอ่อนนุ่ม ผลรูปไข่ หรือกลม สีเขียวเข้ม เมื่อสุกเปลี่ยนเป็นสีดำ มีเมล็ด 1 เมล็ด ออกดอกราวเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม
สรรพคุณ :
เปลือกต้นและเนื้อไม้ บำรุงธาตุ บำรุงหัวใจ แก้ลมวิงเวียน ขับเสมหะ ขับลม แก้จุกแน่นท้อง ท้องร่วง ขับเหงื่อ แก้ปวดเมื่อย เคล็ดขัดยอก แก้พิษแมลงต่อยและโรคผิวหนังเรื้อรัง ถ้านำเนื้อไม้มากลั่นด้วยไอน้ำ จะได้สารการบูร (camphor)
Medicinal Used :
Stem bark and Wood : element tonic, cardiotonic, expectorant, carminative, antiflatulent, diaphoretic, antidiarrheal, externally as anti-inflammatory for joint pain, insect bites and treatment of some chronic skin diseases. Steam distillation of wood produces camphor
เอกสารอ้างอิง :
นันทวัน บุณยะประภัศร ,อรนุช โชคชัยเจริญพร. (2539). สมุนไพรไม้พื้นบ้าน 1. กรุงเทพฯ: บริษัท ประชาชน จำกัด
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. (2553). การบูร, 15 ธันวาคม 2563.
http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=12
อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ โดยมหาวิทยาลัยมหิดล. (2553). การบูร, 15 ธันวาคม 2563.
https://pharmacy.mahidol.ac.th/siri/index.php?page=search_detail&medicinal_id=127
|